เรือนจำที่มีความมั่นคงสูงในไทยปัจจุบันมี 9 แห่ง ประกอบด้วย
- เรือนจำกลางคลองเปรม
- ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง
- เรือนจำกลางบางขวาง
- เรือนจำกลางจังหวัดพิษณุโลก
- เรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี
- เรือนจำกลางจังหวัดระยอง
- เรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา
- เรือนจำกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
- เรือนจำกลางจังหวัดสงขลา
เรือนจำที่มีความมั่นคงสูงในไทยมีเป้าหมายจะพัฒนาเป็นเรือนจำมั่นคงสูงสุด หรือ (Supermaximum Security Prison) เรียกสั้นๆ ว่า 'Supermax Prison' ตามต่างประเทศ การจัดประเภทเรือนจำตามระดับความมั่นคงมีมานานแล้ว โดยสามารถแยกเรือนจำออกตามระดับความมั่นคงได้ 3 ระดับ คือ เรือนจำที่มีความมั่นคงต่ำ (Minimum Security Prison) เรือนจำที่มีความมั่นคงปานกลาง (Medium Security Prison) และเรือนจำที่มีระดับความมั่นคงสูง (Maximum Security Prison) โดยเรือนจำที่มีระดับความมั่นคงสูงจัดว่าเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงแข็งแรงทั้งทางอาคารสถานที่และระบบการควบคุม โดยเป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังผู้ต้องขังรายสำคัญๆ กล่าวได้ว่าเรือนจำมั่นคงสูงเป็นเรือนจำที่มีระดับความมั่นคงสูงสุดแล้ว อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการราชทัณฑ์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางประชากรของผู้ต้องขังที่มีลักษณะร้ายและทำงานเป็นเครือข่ายมีอิทธิพลมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังที่มีมากขึ้น ทำให้หลายประเทศประสบกับปัญหาในการควบคุมผู้ต้องขังดังกล่าวโดยพบว่ากำแพงเรือนจำและวิธีการควบคุมแบบเดิมไม่สามารถใช้ในการควบคุมผู้ต้องขังดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว และหันไปรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยการสร้างเรือนจำอีกประเภทหนึ่งที่มีระดับความมั่นคงสูงกว่าเรือนจำมั่นคงสูง คือ เรือนจำมั่นคงสูงสุด
เรือนจำทั้ง 143 แห่งทั่วประเทศไทย เรือนจำกลางเขาบินเป็นเรือนจำที่สมบูรณ์ที่สุด แดน 6 ภายในเรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี ถูกเลือกให้เป็นแดนมั่นคงสูงสุด หรือ Supermax แห่งแรกในประเทศไทย สามารถรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 444 คน อีกทั้งมีเครื่องมือทันสมัย โดยเฉพาะแดนความมั่นคงสูงมีกล้องวงจรปิด 360 ตัว การดำเนินงาน การจัดการต่างๆ จะใช้ระบบเทคโนโลยีช่วยด้วย ตั้งแต่การเยี่ยมญาติ ใช้ระบบวิดีโอแบบซิสเต็ม ควบคุมด้วยระบบคอนโทรลคอมพิวเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่จะดูแลทางจอภาพอยู่ตลอด และมีอุปกรณ์ที่ตัดสัญญาณการสื่อสารได้ทั้งหมด
![]() |
แดน 6 ภายในเรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี ถูกเลือกให้เป็นแดนมั่นคงสูงสุด หรือ Supermax แห่งแรกในประเทศไทย |
กรมราชทัณฑ์อยู่ระหว่างก่อสร้างเรือนจำแดนความมั่นคงสูงสุดเพิ่มอีก 4 แห่ง คือ ที่ จ.นครราชสีมา จ.ระยอง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.พิษณุโลก เพื่อลดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ และรองรับนักโทษในระดับบิ๊กเนม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักโทษรายสำคัญในความผิดคดีค้ายาเสพติด เพื่อเป็นการตัดวงจรการค้ายาเสพติด โดยเรือนจำความมั่นคงสูงที่ จ.ระยอง และจ.พิษณุโลก อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะมีการคัดกรองผู้คุมที่มีความอดทนต่อการยั่วยุต่างๆ และมีใจรักในด้านนี้ มาปฏิบัติหน้าที่ ในเรือนจำความมั่นคงสูงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย
แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเรือนจำมั่นคงสูงสุดในประเทศไทย
แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเรือนจำมั่นคงสูงสุดในประเทศไทยเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งมีบทความเกี่ยวกับการสร้างแดนมั่นคงสูงสุดในเรือนจำ ปรากฏในจุลสาร ทัณฑวิทยา ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2542 จากนั้นจึงได้มีการสร้างแดนมั่นคงสูงสุดในเรือนจำบางแห่งขึ้น เช่น ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง มีแดน 10 ซึ่งมีความแตกต่างจากแดนอื่นๆ ในทัณฑสถานโดยมีระดับความมั่นคงทางกายภาพ การใช้เทคโนโลยีระบบการควบคุม และบุคลากรที่คัดสรรเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามแดนความมั่นคงสูงสุดก่อให้เกิดความแตกต่างจากแดนอื่นๆ ในทัณฑสถาน ความเข้มงวดในการควบคุม สภาพพื้นที่และอัตรากำลัง ทำให้แดนมั่นคงสูงสุดไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพในเรือนจำที่รายล้อมด้วยการปฏิบัติที่ ลักหลั่นแตกต่างกันกับแดนอื่นๆ ดังนั้นถ้าจะทำให้การควบคุมมีประสิทธิภาพต้องมั่นคงสูงทั้งเรือนจำ
การก่อสร้างเรือนจำมั่นคงสูงสุดในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนหรือค่าก่อสร้างมากมายดังที่คาด เพราะสิ่งที่สำคัญหรือหัวใจของเรือนจำมั่นคงสูงสุดอยู่ที่การ “ออกแบบ” เรือนจำ ไม่ใช่ที่เทคโนโลยี ทำอย่างไรจึงจะสามารถออกแบบเรือนจำให้จำกัดการเคลื่อนไหวของผู้ต้องขังไม่ให้มารวมกลุ่มกันและแยกการพบปะของกลุ่มผู้ต้องขังในแดนย่อยต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาด และกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้องไปสัมผัสกับผู้ต้องขัง พึ่งพาผู้ต้องขัง เท่านั้น นี่คือหัวใจของเรือนจำมั่นคงสูงสุด นอกจากนี้จะต้องหาพื้นที่ที่มีความกว้างพอที่จะทำให้เรือนจำตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชนโดยมีเขตกันชนที่กว้างขวางพอ ในขณะที่เทคโนโลยีที่ใช้ไม่จำเป็นต้องวิจิตรพิสดาร เพราะอายุการใช้งานจะไม่นานและประสิทธิภาพยังไม่เสถียร ดังนั้นจึงควรใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียง ที่สำคัญคือระบบการควบคุมที่จะต้องแตกต่างจากเรือนจำทั่วไปที่กิจกรรมในเรือนจำจะเน้นการควบคุมเป็นหลัก ในขณะที่เรื่องบุคลากรก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องมีความพร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพ เพราะเมื่อผู้ต้องขังมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น สามารถใช้เป็นอาวุธร้องเรียนและต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหันไปสู่การใช้อาคารสถานที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมแทน
เรือนจำมั่นคงสูงสุดในประเทศไทยต้องปรับให้เข้ากับสภาพของภูมิอากาศเมืองร้อน และวัฒนธรรมชาวเอเชีย รูปแบบที่เหมาะสมน่าจะคล้ายคลึงกับรูปแบบของเรือนจำมั่นคงสูงสุดของประเทศสิงคโปร์กับมาเลเซียที่บริษัทจากอังกฤษออกแบบให้ เป็นเรือนจำที่ได้ปรับสภาพให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันออก แต่มีความมั่นคงแข็งแรงและตัดการสื่อสารของผู้ต้องขังออกจากกันเป็นกลุ่ม ตัดการสัมผัสและพึ่งพาของผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมและบริหารงาเรือนจำได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยอาคารสถานที่ เพราะถ้าหากการควบคุมผู้ต้องขังยังมีสภาพการเอาอาคารสถานที่ที่ไม่มั่นคงแข็งแรงไม่มีระบบการควบคุมอาคารที่ดี เหมือนการเอา “สุ่มไก่มาขังเสือ” จะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพและตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ต้องขังที่อาศัยเรื่องสิทธิและร้องเรียนเป็นเครื่องมือ
ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าเรือนจำมั่นคงสูงสุดเป็นความจำเป็นที่จะตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการราชทัณฑ์ กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงของลักษณะประชากรของผู้ต้องขังซึ่งมีลักษณะร้ายและเป็นเครือข่ายมากขึ้น การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มมากขึ้นจนเจ้าหน้าที่ทำงานลำบากและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ความล่าช้าต่อการจัดตั้งเรือนจำมั่นคงสูงสุด ตลอดจนความชัดเจน ถูกต้องในรูปแบบของเรือนจำมั่นคงสูงสุดจึงเป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกเลยทีเดียว เพราะในเวลานี้แค่เรือนจำมั่นคงปานกลางของประเทศตะวันตกก็มีความมั่นคงสูงกว่าเรือนจำสูงสุดในประเทศไทยแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น